สวพส.ร่วมจัดแสดงนิทรรศการงานถ่ายทอดเทคโนโลยี ภาคเหนือตอนบน
สวพส.ร่วมจัดแสดงนิทรรศการงานถ่ายทอดเทคโนโลยี ภาคเหนือตอนบน
สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) หรือ สวพส. และมูลนิธิโครงการหลวง ร่วมจัดแสดงนิทรรศการกาแฟสายพันธุ์ใหม่ ชีวภัณฑ์และฟีโรโมน และกัญชง ภายใต้ความร่วมมือทางวิชาการกับกรมวิชาการเกษตรเพื่อถ่ายทอดผลงานวิจัยและเทคโนโลยีการผลิตสินค้าเกษตรปลอดภัยยกระดับการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพมาตรฐาน
วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2566 นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ได้รับมอบหมายจาก นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานในพิธีเปิดงาน “วันถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตพืชภาคเหนือตอนบน นวัตกรรมพืชพร้อมใช้ พัฒนาเกษตรกรไทยยั่งยืน” โดย นางอาณดา นิรันตรายกุล ผู้อำนวยการอุทยานหลวงราชพฤกษ์ นางสาวอัจฉรา ภาวศุทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักวิจัย และนางสาวสิรินรัตน์ ผู้ยอดยิ่ง หัวหน้ากลุ่มวิชาการและสนับสนุนงานพัฒนา เป็นตัวแทนของ สวพส. เข้าร่วมเปิดงาน ณ อุทยานหลวงราชพฤกษ์ ตำบลแม่เหียะ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ระหว่างวันที่ 15-16 กุมภาพันธ์ 2566
ภายในบูธนิทรรศการของ สวพส. มีการถ่ายทอดผลงานวิจัย อาทิ กาแฟอะราบิกาสายพันธ์ใหม่โครงการหลวง สายพันธุ์ RPF-C3 จากแหล่งพันธุ์อ่างขาง และ RPF-C4 จากแหล่งพันธุ์อินทนนท์ เป็นสายพันธุ์กาแฟคาติมอร์ ได้รับการรับรองพันธุ์จากกรมวิชาการเกษตร คุณลักษณะเด่น คือ ทนทานต่อโรคราสนิม ช่วยเกษตรกรเพิ่มผลผลิต เพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกร ผลิตภัณฑ์จากผลงานวิจัยสำหรับใช้ทดแทนสารเคมี การใช้ชีวภัณฑ์/สารชีวภาพ และฟีโรโมนสำหรับควบคุมแมลงศัตรูพืชผลจากงานวิจัย ที่เป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับเกษตรกร เพื่อลดอันตรายจากการใช้สารเคมี และเพิ่มความเชื่อมั่นในการบริโภคผลิตผลที่มีคุณภาพ และผลงานวิจัยและพัฒนากัญชง การใช้ประโยชน์จากเส้นใยกัญชงเพื่อผลิตเป็นเครื่องนุ่งห่ม เป็นอาหาร และเวชสำอาง ถือเป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ที่มีอนาคต และปัจจุบันเกษตรกรยังสามารถปลูก แปรรูป และจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากกัญชง ได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย
ในส่วนของงานถ่ายทอดเทคโนโลยีภาคเหนือตอนบน หน่วยงานเครือข่ายกรมวิชาการเกษตรในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน ได้ร่วมกันจัดนิทรรศการต่าง ๆ โดยภายในงานได้แบ่งกิจกรรมออกเป็นโซนต่างๆ ดังนี้
โซนที่ 1 เทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านการผลิตและแปรรูป
โซนที่ 2 นวัตกรรมกาแฟอะราบิกาครบวงจรสู่ระดับสากล
โซนที่ 3 ชีวภัณฑ์ก้าวหน้า ลดพึ่งพาสารเคมี
โซนที่ 4 มุ่งสู่ BCG ด้วยปุ๋ยอินทรีย์ และปุ๋ยชีวภาพ
โซนที่ 5 การเพิ่มประสิทธิภาพระบบพืชด้วยนวัตกรรมการผลิตพืชไร่
โซนที่ 6 มุ่งสู่การเป็นผู้นำด้านเมล็ดพันธุ์พืชเขตร้อนระดับโลก
โซนที่ 7 ยกระดับมาตรฐานการผลิตพืชเพื่อการส่งออก และเพิ่มศักยภาพพืชท้องถิ่นด้วยงานวิจัยและนวัตกรรม
การเผยแพร่ผลงานในครั้งนี้ถือเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาการเกษตรของประเทศเป็นอย่างมาก เป็นการกระตุ้นหน่วยงานต่าง ๆ หาทางเร่งรัดช่วยเหลือเกษตรกรให้เรียนรู้ และมีความเข้าใจ ในกระบวนการผลิตพืชที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ