MOU อบต. เข็กน้อยร่วมประสานงานจังหวัดเพชรบูรณ์
สวพส. MOU อบต. เข็กน้อย และจัดประชุมคณะกรรมการประสานงานจังหวัดเพชรบูรณ์
( 9 ก.พ. 66) นายวิรัตน์ ปราบทุกข์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง เป็นได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ เพื่อพัฒนาและยกระดับการดำเนินงานบนพื้นที่สูงมุ่งสู่ "การพัฒนาที่ยั่งยืน" ระหว่าง สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) และองค์การบริหารส่วนตำบลเข็กน้อย โดยได้รับเกียรติจากนายสุเมธ ธีรนิติ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นประธานในพิธีลงนามในครั้งนี้ ซึ่งจัดขึ้น ณ ศาลากลางจังหวัดเพชรบูรณ์ โดยมี นายนราพงษ์ ทรงสวัสดิ์วงศ์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเข็กน้อย เป็นผู้บันทึกลงนามความร่วมมือ
การบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ในครั้งนี้ เป็นความร่วมมือกันในการสนับสนุนและขับเคลื่อนการพัฒนา ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนบนพื้นที่สูงให้มีความอยู่ดีมีสุข และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แก้ไขความจนแบบพุ่งเป้า สร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมในทุกมิติภายใต้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) พร้อมยกระดับแผนปฏิบัติการโครงการพัฒนาพื้นที่สูง ให้เป็นแผนบูรณาการด้านการพัฒนาพื้นที่สูงระดับตำบล และผลักดันสู่ระบบงบประมาณแบบแผนงานบูรณาการต่อไป
นอกจากนี้ ได้มีประชุมจัดทำแผนปฏิบัติงานแบบบูรณาการโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงห้วยน้ำขาว ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 โดย นายวิรัตน์ ปราบทุกข์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง ชี้แจงการพัฒนาพื้นที่สูงภายใต้แผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน ระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2566 - 2570) สู่ระดับตำบลในพื้นที่
โดย นายอาณัติ ธิขวัญ นักวิชาการส่งเสริมและพัฒนา หัวหน้าโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงห้วยน้ำขาว ได้นำเสนอผลการดำเนินงานในระยะที่ผ่านมาของปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ที่ได้ดำเนินการตามยุทธศาสตร์ 5 ด้านได้แก่ ด้านอาชีพ ด้านพัฒนาสังคมและการตลาด ด้านอนุรักษ์ฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม ด้านโครงสร้างพื้นฐาน และด้านบริหารการจัดการ รวมถึงได้ชี้แจงแผนการดำเนินงานในระยะต่อไปของปีงบประมาณ พ.ศ.2566 เพื่อจะร่วมบูรณาการกับหน่วยงาน และกำหนดทิศทางการพัฒนาไปในทิศทางเดียวกัน ต่อมาหน่วยงานบูรณาการ 40 หน่วยงาน ได้รายงานผลการดำเนินงานในพื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงห้วยน้ำขาวในระยะที่ผ่านมาของปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 และแผนการพัฒนาเชิงพื้นที่ปีงบประมาณ พ.ศ.2566
จากการประชุมครั้งนี้มีข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะเน้นการดำเนินงานร่วมกันกับโครงการในพื้นที่และเน้นเตรียมความพร้อมในการขอรับการสนับสนุนในด้านต่างๆ โดยเฉพาะปัญหาที่จำเป็นต้องร่วมกันแก้ไข เช่น การพัฒนาแหล่งน้ำ และการพัฒนาพื้นที่ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว ที่สามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชน พร้อมทั้งพัฒนาอาชีพของเกษตรกรบนพื้นที่สูงให้มีรายได้ที่เพียงพอ โดยควบคู่ไปกับการดูแลป่าต้นน้ำ การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม